วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มารยาทในการพูด


มารยาทที่ดีในการฟัง

 การฟังที่ดีย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดสติปัญญา ปัญญาย่อมเป็นแสงสว่างส่องทางชีวิตในราชการและส่วนตัว
การฟังเป็นสิ่งที่ต้องฝึก เช่นเดียวกับการอ่าน การเขียน และการพูด บางคนเข้าใจว่าการฟังนั้นไม่เป็นของยากอะไร แต่ความจริงการฟังจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งก็ต่อเมื่อผู้ฟังรู้จักฟัง ถ้าผู้ฟังไม่รู้จักฟังก็ไร้ประโยชน์หรืออาจจะนำโทษอันยิ่งใหญ่มาสู่ผู้ฟังหรือส่วนรวมได้ ดังเช่นเวลานี้ สิ่งที่เรากลัวที่สุด ก็คือกลัวประชาชนของเราหลงเชื่อสิ่งที่อาจก่อให้เกิดภัยอันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติได้
ผู้ฟังยังควรจะรักษามารยาทในการฟังให้ดี ทั้งในส่วนตัวและในที่ประชุม ผู้ที่มารยาทดีย่อมเป็นที่สรรเสริญเป็นที่รักใคร่ และมีคนคบหาสมาคมด้วย จะทำการใดย่อมลุล่วงไปด้วยดี มารยาทในการฟังที่ควรจะยึดถือไว้บ้างก็คือ
  1. แสดงความสนใจในขณะที่ผู้พูดพูดกับตน ไม่แสดงทีท่าว่าสนใจกับสิ่งอื่น
  2. ไม่แสดงสีหน้าท่าทางว่าเบื่อหน่าย หรือไม่พอใจ แม้ว่าเรื่องนั้นไม่น่าสนใจ ก็ฝึกที่จะฝืนฟังเอาไว้
  3. ถ้าเป็นการฟังในที่ประชุม ก็ควรมีความเคารพต่อสถานที่และต่อผู้พูด เช่น การนั่งให้เรียบร้อย รู้จักสำรวม และไม่พูดคุยกันในที่ประชุม
  4. ไม่ลุกจากที่ ถ้าจำเป็นก็ต้องขอโทษ หรือถ้าเป็นในห้องประชุมก็แสดงการคารวะผู้เป็นประธาน
  5. ถ้าเข้าห้องประชุมภายหลังเวลา ก็ต้องแสดงคารวะที่ประชุมหรือผู้เป็นประธานเช่นกัน
  6. ไม่ควรทำตนให้เป็นที่รำคาญแก่คนอื่น เช่น การสูบบุหรี่ การสนทนาพูดคุยกัน ฯลฯ
  7. ยอมรับกันที่เหตุผลข้อเท็จจริงและการตัดสินใจของประธานหรือมติที่ประชุม เมื่อได้ข้อยุติแล้วต้องร่วมมือปฏิบัติ ไม่ใช่เมื่อที่ประชุมไม่เอาความคิดเห็นของตนแล้วก็แสดงกิริยาไม่พอใจ เดินออกจากที่ประชุมไป รวมทั้งคัดค้านการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด

มารยาทที่ดีในการพูด
หลักเกณฑ์ในการพูดพอจะประมวลได้ ดังนี้
  1. ก่อนที่จะพูดคิดให้รอบคอบเสียก่อนว่า การพูดนี้จะก่อให้เกิดผลอย่างไร คำพูดเพียงคำสองคำฆ่าคนมามากแล้ว
  2. ไม่ควรพูดให้ร้ายต่อใครด้วยความอิจฉาริษยา การส่อเสียดและป้ายโทษแก่ผู้อื่น เป็นการไร้มารยาทและแสดงความมีใจไม่สะอาดของผู้พูดเอง
  3. ในขณะที่โกรธหรือไม่พอใจผู้ใดควรอดงดพูดไว้ก่อน เพราะในขณะที่โกรธอาจเห็นผิดเป็นชอบ ถ้าไม่ยั้งไว้จะเสียความ
  4. ไม่ควรกล่าววาจาเสียดแทงใจคน แม้จะเป็นการหยอกล้อก็ตามจะทำให้ผู้ฟังมีใจไม่สบาย เป็นการให้ทุกข์แก่ผู้อื่น
  5. แม้ว่าความเห็นจะไม่ตรงกัน ก็ไม่ควรพูดก้าวร้าวหรือขัดคอ ควรจะหาวิธีพูดให้สุภาพ เช่น ขอเสนอความคิดเห็นของตนซึ่งเป็นการแสดงให้ทราบอยู่ในตัวว่าความเห็นไม่ตรงกัน
  6. ใช้ถ้อยคำสุภาพ เรียบร้อย และให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เช่น พูดกับผู้ใหญ่ หรือผู้บังคับบัญชาควรใช้ถ้อยคำให้เกียรติ
  7. ไม่พูดอวดตน อวดภูมิ หรือข่มผู้หนึ่งผู้ใด
  8. ไม่ผูกขาดการพูดแต่เพียงคนเดียว ไม่ว่าการสนทนาหรือการพูดในกลุ่ม เปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูดบ้าง ในการอภิปรายผู้อภิปรายควรรักษาเวลาโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นจะเป็นการกินเวลาของผู้อื่น เรื่องที่พูดควรจะรวบรัดให้พอดี การที่กำหนดเวลาไว้นั้นก็ได้พิจารณาแล้วว่าควรจะใช้เวลาทั้งหมดเท่าไร ถ้านานเกินไปผู้ฟังก็หมดสมาธิ
  9. ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่หลงตนจนเกินไป พูดด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ในการพูด
  10. พูดในสิ่งที่ผู้ฟังสนใจ แม้แต่ในการสนทนาส่วนบุคคล
  11. ถ้าอยากจะพูดในขณะที่คนอื่นยังพูดไม่จบ รอให้เขาพูดจบเสียก่อน หรือถ้าเห็นว่าจะรอไม่ได้ก็กล่าวคำขอโทษ
  12. ถ้านำคำพูดของผู้อื่นมากล่าว ก็ต้องเอ่ยนามท่านผู้นั้นเสมอเพื่อเป็นการแสดงคารวะหรือให้เกียรติ
  13. มีท่าทางสุภาพเรียบร้อย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสแต่งกายสุภาพ